อาหารผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากไม่ได้เสียชีวิตจากการลุกลามของโรคแต่กลับเป็นเพราะการขาดสารอาหารถ้าร่างกายได้อาหารที่เหมาะสมเพียงพอจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา การผ่าตัด หรือการฉายรังสีช่วยให้ฟื้นฟูสภาพได้เร็วและดีขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยให้คงสุขภาพนั้นไว้ไม่ให้เสื่อมโทรมลงเท่าที่ควร
สาเหตุที่เป็นมะเร็งแล้วขาดสารอาหาร
ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น เซลล์มะเร็งมีการสร้างสารเคมีบางอย่างทำให้การเผาผลาญอาหารที่รับประทานเข้าไปหมดโดยเร็ว ถ้าร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงมีการเผาผลาญจากอาหารที่สะสมไว้ในร่างกาย แล้วลุกลามไปถึงกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆ ผู้ป่วยโรคมะเร็งรับประทานอาหารได้น้อย ในขณะที่ร่างกายต้องการอาหารเพื่อนำไปสร้างพลังงานเพิ่มขึ้นทำให้ขาดอาหารได้
อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และร่างกายควรได้รับในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ได้แก่
– อาหารประเภทข้าว-แป้ง ได้แก่ ข้าวขาว ข้าวกล้อง ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาหารที่ให้พลังงาน
– อาหารประเภทไขมัน ได้แก่ น้ำมันจากพืชต่างๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว ช่วยให้ได้รับกรดไขมันที่จำเป็นแก่ร่างกายและให้พลังงานสูง
– อาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ นมชนิดต่างๆและถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งเป็นแหล่งของสารอาหารโปรตีนควรรับประทานมากกว่าปกติ
– อาหารประเภทผักชนิดต่างๆหลากสีทั้งผักสดและผักสุก เช่น ตำลึง คะน้า มะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี และอื่นๆ
– อาหารประเภทผลไม้ เช่น ส้ม กล้วย ฝรั่ง มะละกอ แตงโม ชมพู่ ฯลฯ
– อาหารประเภทเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่าที่สะอาด น้ำผลไม้ทุกชนิด น้ำต้มผัก น้ำหวาน ฯลฯ
ตัวอย่างเมนูอาหาร เช่น
– นมไขมันต่ำ นมสด นมถั่วเหลือง นมวัว ฯลฯ- ไข่ดาว ไข่ต้ม ไข่เจียว ไข่ตุ่น
– โจ๊กหมูสับใส่ไข่
– ข้าวผัดปูแครอท ข้าวผัดหมูใส่ไข่ ข้าวต้มปลา
– ซุปชนิดต่างๆ เช่น ซุปข้าวโพด ฟักทอง เห็ด
– ผัดผักรวมมิตร (หลากสี) ผัดฟักทองใส่ไข่
– ผลไม้ เช่น ส้ม ชมพู่ แอปเปิ้ล ฝรั่ง สับปะรด มะละกอ ผลไม้ลอยแก้ว
– ลูกเดือย ถั่วเขียวต้มน้ำตาล กล้วยบวชชี
– แซนวิช หรือแครกเกอร์ ขนมปัง เค้ก
– ไอศครีมเชอเบท ไอศกรีมนมสด
อาหารที่แนะนำเมื่อเกิดผลข้างเคียงจากการรักษา
– การรับรสและกลิ่นอาหารเปลี่ยน สามารถที่จะใช้ สมุนไพร น้ำมะนาว ขมิ้น ช่วยในการรับรส การรับประทานผลไม้แช่เย็น ดื่มน้ำผลไม้ เช่น น้ำมะนาวโซดา น้ำสตรอเบอรี่ มะนาวปั่น
– ความอยากอาหารลดลง รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง และต้องให้พลังงานและโปรตีนสูง เช่น นมอุ่นๆ ซุปเห็ดข้น ขนมปังผสมธัญพืชทาแยมผลไม้ หรือเนยถั่ว โจ๊กหมูสับใส่ไข่ มันฝรั่งอบ ถั่วเขียว หรือลูกเดือยต้มน้ำตาล ไอศครีมเชอเบท
– ท้องผูก รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังผสมธัญพืช ผลไม้สด เช่น กล้วยน้ำว้า แอปเปิ้ล ส้ม ผลไม้แห้ง ลูกพรุนแห้ง สลัดผลไม้น้ำใส ดื่มน้ำมากๆ หรือน้ำผลไม้
– ท้องเสีย ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกากใยสูง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอดต่างๆ ดื่มน้ำหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือแร่ ซุปเห็ดข้น แครกเกอร์ ดื่มน้ำหรืออาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น น้ำเกลือแร่ มันฝรั่งอบ กล้วยหอม รับประทานผักที่มีกากใยต่ำ เช่น หน่อไม้ฝรั่งผัด มันฝรั่งอบ หรือซุปมันฝรั่ง เมื่ออาการดีขึ้นค่อยๆเริ่มรับประทานอาหารที่มีกากใย
– แผลในปาก หลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม หรือน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม อาหารแนะนำ อาหารอ่อน เช่น โจ๊กหมูสับใส่ไข่ มักกะโรนี นม ซุปฟักทอง ซีเรียลใส่นมเย็น ผักต้มสุก น้ำผลไม้ที่ไม่เปรี้ยว เช่น น้ำแอปเปิ้ล ชา ไอศครีมเชอเบท
– คลื่นไส้อาเจียน แนะนำให้รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง เช่น แบ่งมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุน อาหารที่มีรสหวานจัด อาหารทอดมันๆ รับประทานอาหารที่เย็นแทนอาหารร้อน หรือเผ็ดจัด อาหารแห้งๆ เช่น แครกเกอร์ ขนมปังปิ้ง อาหารแนะนำ เช่น ข้าวต้ม นมไขมันต่ำ โจ๊กหมูสับใส่ไข่อุ่นๆ มันฝรั่งอบ น้ำผลไม้เย็นๆ ไอศครีมเชอเบท
– เม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ อาหารแนะนำ อาหารที่มีแบคทีเรียต่ำ โดยก่อนการเตรียม หรือปรุงอาหารต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และภาชนะที่ใช้ต้องสะอาด อาหารที่เตรียม เช่น ผักสดแช่น้ำและล้างผ่านน้ำอย่างน้อย 2-3 นาที การปรุงอาหารปรุงให้สุก
อาหารแนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็งหลังการรักษา
– ผู้ป่วยมะเร็งสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิดเท่าที่สามารถจะรับประทานได้
– ทำจิตใจให้ร่าเริงอยู่เสมอ
– ออกกำลังกายตามขีดความสามารถเท่าที่จะทำได้
– หลีกเลี่ยงอาหารที่จะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็ง ได้แก่ อาหารปิ้ง ย่างจนไหม้เกรียม เช่น ไก่ย่าง หมูปิ้งอาหารที่ทอดในน้ำมันซ้ำ เช่น ไก่ทอด หมูทอด ปาท่องโก๋ อาหารหมักดองทุกชนิด อาหารตากแห้ง อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม ฯลฯ
ผลจากการได้รับอาหารอย่างเพียงพอ
ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอจะทำให้เกิดผลดีคือ ทำให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาได้ดี ทำให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รับการรักษาด้วยยาเคมี หรือการฉายรังสีขนาดสูงๆทำให้เวลาการรักษาสั้นลง เพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดระยะติดเชื้อ ทำให้สภาพร่างกายดี